ไทยเบฟยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เจริญเติบโต จากชายผู้หนึ่งที่ชื่อ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งรายงานของนิตยสาร Forbes ล่าสุดในปี 2566 พบว่าเขาร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีทรัพย์สิน 1.48 หมื่นล้านเหรียญ รองจาก ‘เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์’ แห่งอาณาจักรซีพี ซึ่งยังคงครองอันดับ 1 ที่มีทรัพย์สิน 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพียงนิดเดียว

ไทยเบฟเติบโตขึ้นจากการเทคโอเวอร์สุรา แสงโสม แม่โขง และการชนะการประมูลสัมปทานในการสร้างและประกอบการโรงงานสุรา 12 แห่งในประเทศไทยในอดีต จนกลายเป็นผู้ผูกขาดการผลิตเหล้าในประเทศไทย (และต่อมาได้ขยายมาสู่ธุรกิจเบียร์ในปี 2538)

โดยกฎระเบียบของรัฐที่เอื้อต่อผู้ผลิตรายใหญ่ และผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจยาก ตลาดจึงถูกผูกขาดโดยไทยเบฟ

ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสุราของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยมากกว่า 80% ภายใต้โรงงานสุราในเครือ 18 โรง มีแบรนด์สุราทุกระดับกว่า 30 แบรนด์

จากเว็บไซท์ของไทยเบฟที่คอร์ปว็อทช์เข้าถึง ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2566 กรรมการของไทยเบฟมีทั้งสิ้น 17 คน

โดยมีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นประธานกรรมการ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี (เพิ่งเสียชีวิต) เป็นรองประธานกรรมการ และน่าสนใจที่กรรมการของบริษัทมีองค์ประกอบของกรรมการที่มาจากอดีตรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวง อดีตอธิบดี และผู้ใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญ เช่น ภรรยาของอดีตผู้บัญชาการทหารบก และปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี เป็นต้น (ตามรายละเอียดในโพสต์)

ภายใต้นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีการลงนามในเอ็มโอยู 23 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งที่สำคัญคือ “ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์” นั้น น่าสนใจว่าไทยเบฟ ภายใต้การนำของครอบครัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กรรมการบริษัท กรรมการบริหาร และเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งเครือข่ายทางสังคมทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมสุราของประเทศไทยไปในรูปแบบใด ?

น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง