ราคาเบียร์สด (draft beer , draught beer) ต่อ 0.5 ลิตรที่ขายในเมืองหลวงของหลายประเทศในเอเชียมีราคาเฉลี่ยเท่าไหร่กัน ? การสำรวจโดย NUMBEO โดยผู้คนที่อาศัยในเมืองหลวงของประเทศต่างๆพบว่าเบียร์สดที่ขายในกรุงเทพฯ ราคาแพงกว่าหลายเมืองในเอเชีย
นี่น่าจะเป็นภาพสะท้อนของการผูกขาดรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมเบียร์และสุราที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ครอบครองกิจการส่วนใหญ่ และบริษัทเล็กๆในท้องถิ่นยากที่จะแข่งขันได้โดยกฎระเบียบต่างๆ
รายงาน ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2565-2567: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม” ของ Krungsri Research ให้ข้อมูลไว้ว่า ณ ปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีขนาดการผลิตคิดเป็น 21% ของปริมาณการผลิตเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนในแง่มูลค่านั้น มีมูลค่ารวมประมาณ 473,000 ล้านบาท คิดเป็น 64% ของมูลค่าตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณการผลิต-การบริโภค และมูลค่าตลาดสูงสุดคือ เบียร์ มีสัดส่วนในเชิงปริมาณ 71.3% และในเชิงมูลค่า 54.3% ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ตามด้วยสุรา ที่มีสัดส่วนในเชิงปริมาณ 26.7% และในเชิงมูลค่า 37.9% ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด
อุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยผู้ผลิตรายใหญ่สองราย คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ยุคแรกเริ่มของไทย มีแบรนด์สำคัญคือ สิงห์ ลีโอ และ My Beer อีกราย คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาทีหลัง แต่เติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีแบรนด์สำคัญ คือ ช้าง อาชา และ Federbräu (เฟดเดอร์บรอย)
ผู้นำตลาดคือ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ครองส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามมาด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาด 34.3% และบริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด 4.7%
หากแบ่งเป็นรายแบรนด์ ลีโอ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมาคือ ช้าง 31.2% สิงห์ 11.2% ไฮเนเกน 3.8% และอาชา 2.4%
ไม่เฉพาะสุราและเบียร์เท่านั้น แต่การผูกขาดรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมหลายสาขาที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐครอบครองส่วนแบ่งตลาดสำคัญ พวกเขาสามารถกำหนดราคาสินค้าให้สูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการขาดทางเลือกของผู้บริโภค
การมีอิทธิพลเหนือตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้สมควรถูกตรวจสอบมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน